ไทยรัฐ ออนไลน์มีโอกาสได้ เข้าไปในเขตใช้ความเงียบของ ‘วูดดี้-สราวุธ พรพิทักษ์สุข‘ เจ้าของรางวัลแกรมมี่ อวอร์ดส์ สาขามาสเตอริ่ง เอนจิเนียร์ จากอัลบั้ม ‘The Complete Hot Five and Hot Seven Recording’ งานบ็อกเซตจำนวน 4 แผ่นของ หลุยส์ อาร์มสตรอง ศิลปินแจ๊ส มือเป่าทรัมเป็ต ผู้เป็นตำนานแห่งวงการดนตรีในศตวรรษที่ 20 เป็นการออกมารีมาสเตอร์ในวาระครบรอบ 100 ปีของเขา คงจะไม่ผิดหากจะบอกว่า เป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่สร้างประวัติศาสตร์ชาติ คว้ารางวัลอันทรงเกียรตินี้มานอนกอดที่บ้านได้

“10 ปีแล้วที่ผมได้รางวัล ใจจริงเราอยากให้คนมาทำลายสถิตินี้ เพราะนั่นมันหมายถึงการก้าวหน้าวงการไทยไปสู่สากล” นักมาสเตอริ่งผู้ไม่ค่อยเปิดเผยตัวกล่าว นอกจาก เรื่องเส้นทางกว่าจะ ได้มารางวัลอันทรงคุณค่านี้แล้ว ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ เรายังให้เขาวิพากษ์วิจารณ์วงการเพลงไทย พร้อมกับมองไปอนาคตข้างหน้าด้วยว่า วันนี้วงการเพลงไทยที่เห็นกันอยู่ เราเดินมาถูกทางแล้วหรือยัง

มาสเตอริ่ง = คนเติมเต็ม มาสเตอริ่ง คือ การเช็กรายละเอียดปรับปรุงแต่งเพลงให้มีความดังความเบาจนบาลานซ์ ชัดเจนมากขึ้น และเป็นมาตรฐานให้กับเพลงนั้นๆมากที่สุด เป็นขั้นตอนสุดท้ายการทำงานก่อนส่งแผ่นซีดี ทั้งนี้หากเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ตำแหน่งมาสเตอริ่งกับกีฬาฟุตบอล วูดดี้มีหน้าที่ที่คอย “เติมเต็ม” ให้ทุกช่องว่างที่บกพร่องอย่างมีคุณภาพที่สุด

วูด ดี้เล่าถึงเส้นทางก่อนจะเดินมาถึงจุดนี้ เมื่ออายุ 4 ปีขณะต้องไปเรียนที่นิวยอร์ก เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาการปรับตัว ก็เริ่มที่จะค้นหาตัวเอง จนมีโอกาสได้ไปฝึกงานที่โซนี่ มิวสิก พร้อมกับหลงรักตำแหน่งมาเตอริ่งดนตรี กระทั่งมีโอกาสเข้ามาถึง เมื่อมีคนส่งงานบ็อกเซตจำนวน 4 แผ่น อัลบั้มเพลงรีมาสเตอร์ของหลุยส์ อาร์มสตรอง ศิลปินแจ๊ส ผู้เป็นตำนานแห่งวงการดนตรีในศตวรรษที่ 20 เป็นการรีมาสเตอร์งานวาระครบรอบ 100 ปี มาให้พวกเราทำการมาสเตอริ่ง

“ครั้ง แรกที่รู้ว่าได้ทำงานนี้ดีใจมาก แต่อีกใจมันก็หินมาก เนื่องจากพวกเราต้องรวบรวมเพลงของศิลปินชื่อดังคนนี้จากทุกแหล่ง ทั้งแผ่นเสียงหรือเทปคาสเซ็ท ซึ่งคุณภาพของเสียงนั้นแย่มาก และหน้าที่ของผมก็คือทำให้เพลงที่ออกมานั้น ไพเราะเสนาะหู และใกล้เคียงกับเพลงต้นฉบับมากที่สุด”

วูด ดี้บอกว่าใช้เวลานานถึง 5 เดือนด้วยกันในการนั่งอยู่ในห้องอัด จัดการเอาเสียงรบกวน ซึ่งเป็นเพียงจุดเล็กๆ เล็กมากๆ เป็นล้านๆจุดออกให้หมด ทำแบบนี้วันละ 12-14 ชั่วโมงทุกวัน “พอ เสร็จงานผมพาตัวเองไปนอนโรงพยาบาลเลยนะ ไม่ไหวจริงๆครับ” เขาทำหน้าเหนื่อยราวกับจำช่วงเวลานั้นได้แม่นยำ และย้ำว่าผลลัพธ์ที่ออกมาคุ้มซะยิ่งกว่าคุ้ม ส่วนค่าตอบแทนกับผลงานชิ้นโบว์แดงสร้างชื่อนี้ เขาบอกว่าประมาณ 1 ล้านบาทไทย

รางวัลแกรมมี่ อวอร์ดส์ สาขามาสเตอริ่ง ปี 2000

“วัน ที่เราเห็นกล่องรางวัลมาถึงบ้าน ผมแอบมือสั่น (ซึ่งมีถ้วยรางวัลทำจากทอง 14K, ประกาศนียบัตรและเหรียญตรา) และผมก็แกะดูและรู้สึกดีใจมากๆ ที่อย่างน้อยผลงานที่ผมและทีมงานช่วยกันทำมาตลอดหลายเดือนได้รับผลที่คุ้ม ค่า อย่างไรก็ตามถ้าผมไม่ได้รางวัล ผมก็ดีใจนะเพราะเวลาเอามานั่งฟังผมก็ภูมิใจในผลงานอยู่ดี”

ชีวิตเปลี่ยนแปลง ชีวิตเปลี่ยนแพลน : เมื่อ ถามถึงชีวิตก่อนและหลังได้รับรางวัลแตกต่างกันหรือไม่ หนุ่มมาดสุขุมแอบยิ้มเล็กน้อยและบอกว่านอกจากคนในวงการเพลงก็จะเกรงใจและรู้ ถึงฝีมือเพิ่มมากขึ้น แต่การทำงานทุกอย่าง รวมถึงค่าตอบแทนเหมือนเดิม

“สาเหตุ ที่ผมย้ายกลับมาอยู่ที่ประเทศไทย เพราะว่าคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน ที่สำคัญอยากให้ลูกมีความเป็นคนไทย ไม่ใช่คิดทำตัวเป็นฝรั่งจ๋า แต่ก็ตัดสินใจลำบาก เพราะว่าเรากลับมาเป็นศูนย์ ไม่เหมือนกับที่นั่นเรามีงานประจำและมีชื่อเสียงพอสมควร มาถึงที่นี่ก็เป็นฟรีแลนซ์ทำความรู้จักกับคนไปเรื่อยๆ เวลาผ่านไปสักระยะ คนรู้ฝีมืองานก็เริ่มขยาย โดยเราไม่ได้ประชาสัมพันธ์ตัวเอง “ให้ผลงานมันอธิบายตัวมันเองดีกว่า” ผลงานแรกของผมหลังจากกลับมาไทยก็คือผลงานรวมอัลบั้มและคอนเสิร์ตรีมาสเตอร์ 20 ปี ‘เบิร์ดกับฮาร์ท’ ต่อด้วยงานของไทเทเนียม จากนั้นก็มีอีกหลากหลายค่ายที่ทยอยส่งงานมาให้เรื่อยๆ”

คอมเมนต์ระดับโลก : ในฐานะมาสเตอริ่งที่ได้รางวัลระดับโลก มองวงการดนตรีไทยกับสากลแตกต่างกันอย่างไร – เราสงสัย
“ถาม ว่าวงการเพลงไทยยังขาดอะไรถึงจะไปสู่สากลได้ อันดับแรกคือความดังของเพลงที่ออกมา เพลงไทยจะเบากว่าเพลงสากลมาก หากใส่เครื่องฟังและเปิดในวอลลุ่มเดียวกัน จึงเป็นหน้าที่ของผมที่จะอธิบายว่ามันขึ้นอยู่กับขั้นตอนตั้งแต่เริ่มอัด เสียงกันเลยทีเดียว ทุกผลงานผมมา’ช่วยเติมมุมมองและให้ความเห็นของเพลงมากกว่าทำเพลง’ เพราะผมเล่นดนตรีไม่เป็น จึงเป็นข้อดีของผมเวลาฟังเพลงจะคิดในมุมมองของคนฟังมากกว่าคนทำเพลง”

เปิดรับทุกมุมมองทางดนตรี : “ผมเป็นคนเปิดกว้าง ไม่มีอะไรถูกหรือผิด” วูดดี้เปิดเผยเคล็ดลับ และย้ำว่ารับงานทั้งหมดโดยไม่คิดเลือกงาน ไม่เลือกค่ายใดค่ายหนึ่ง “ผม ใช้ความรู้สึกในการทำเพลง อินในผลงานที่คิดสร้างสรรค์มา เป็นคนเติมเต็มให้เพลงออกมาเป็นคลาสสิกหรืออมตะที่สุด ทำงานแข่งกับตัวเอง โอกาสที่จะพลาดมันน้อย ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ ทำงานในมุมของโปรดักชั่น ให้ความสำคัญในสิ่งที่ศิลปินควรจะเป็น ไม่จำเป็นต้องยึดติดอดีต แต่มองปัจจุบันไปสู่อนาคต สร้างสิ่งใหม่ๆให้ออกมาดีที่สุด”

ค่าตอบแทนไม่สน คุณภาพต้องมาก่อน : เมื่อถามถึงค่าตอบแทนในการทำเพลงของบ้านเราเมื่อเทียบกับต่างประเทศ…? เขาอมยิ้มเล็กๆแล้วตอบแบบชัดถ้อยชัดคำ เมืองไทยให้น้อยกว่าเกือบเท่าตัว แต่ก็เข้าใจ เพราะตลาดคนฟังและซีดีเถื่อนเกลื่อนตลาด อีกทั้งปัญหาดาวน์โหลดฟรี

“สมัยก่อนเราอยากได้เพลงสักเพลงหนึ่ง เราต้องลงทุนไปรอเทปคาสเซ็ทถึงแผงขายเทป แต่ตอนนี้ทุกคนกดดาวน์โหลดก็ได้มาครบทั้งอัลบั้ม เพราะคนเราลืมความรู้สึกที่ดีๆที่มีต่อเพลงและดนตรีไปแล้ว ลืมความไพเราะของดนตรีที่บรรเลง คุณภาพเสียงของ MP3 ที่โหลดมานั้น มัน’แย่’กว่ามาก ขาดมิติ ไม่สามารถ’อิน’เข้าไปในเพลงได้เลย คุณภาพที่มันหดหาย MP3 มันเปลี่ยนโฉมหน้าการสร้างดนตรีไป ดังนั้นใครที่ชอบบ่นว่าทำไมเพลงไทยถึงไม่ดังเท่าเมืองนอก เพราะที่เมืองนอกเขายังซื้อ CD การดาวน์โหลดก็มี แต่ถ้าเขาชอบก็จะไปซื้อ CD มาฟัง”

การันตีคุณภาพงานด้วยรางวัลนับไม่ถ้วน

คำทำนาย แกรมมี่ อวอร์ดส์ไม่ไกลเกินฝีมือคนไทย
วูด ดี้บอกว่า ตอบไม่ได้หรอกว่าอะไรที่ทำให้วงการเพลงไทยก้าวไประดับโลกหรือเวทีแกรมมี่ อวอร์ดส์เพราะด้วยภาษาของเราเองที่เป็นเอกลักษณ์เจาะจงเฉพาะประเทศ แต่ถ้าเราทำให้เพลงของเราเป็นสากล โอกาสที่เราจะได้นั้นก็ไม่ยาก “อาจ จะอีกสัก 10 ปีข้างหน้าก็เป็นได้ เพราะคนรุ่นใหม่เก่งและภาษาก็ดีขึ้นมาก ขึ้นอยู่กับว่าใครจะช่วยแนะนำแนวทางที่ถูกต้องให้เขา ปัจจุบันนี้หลายคนมองดนตรีเป็นแฟชั่น ให้คุณค่ากับศิลปะในการเสพดนตรีน้อยลง ทั้งๆที่ดนตรีเป็นศิลปะและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ดังนั้นการที่คนเรากำลังทำลายดนตรีด้วยซีดีเถื่อนก็เท่ากับกำลังทำลาย วัฒนธรรมนั่นเอง ทุกสิ่งทุกอย่างเลยกลายเป็นแค่ ‘แฟชั่น’ เพลงบางเพลงฟังได้ไม่ยั่งยืน สิ่งที่เราควรจะคาดหวัง คือ อยากเห็นเด็กยุคใหม่หันกลับมาฟังเพลงอย่างจริงจัง และหวังเหลือเกินว่าในอีกไม่นาน แผ่นเสียงจะกลับมาผงาดในตลาดอีกครั้ง เพราะว่ามันคือส่วนหนึ่งของการฟังเพลงอย่างแท้จริง”

ความเป็นไทย และบันไดดาว
สุดท้ายถามว่า ถ้ามีคนอยากเป็นมืออาชีพและก้าวไปสู่ระดับโลกอย่างคุณต้องทำอย่างไร…?
“ผม แนะนำให้เด็กรุ่นใหม่ที่อยากจะประสบความสำเร็จในวงการเพลง จะต้องเรียนรู้ให้มากๆ เรียนในด้านการทำเพลงตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน และอีกสิ่งที่สำคัญที่สุด ‘รับวัฒนธรรมเขามา อย่าเลียนแบบเขาอย่างเดียว’ นำมาทำความเข้าใจและรู้จักประยุกต์ใช้ในมุมมองที่ปัจจุบันคืออะไร เพื่ออนาคตอย่างไร ใช้อย่างไรให้มันถูกต้อง อย่าไปคิดว่าฝรั่งทำแล้วดีอย่างเดียว คนไทยก็ทำได้แล้วออกมาดีด้วย เพียงแต่ว่าเราไม่ได้เด่นเท่าเขา เพราะเขามีวิธีที่จะทำให้คนฟังในสิ่งที่เขาทำ คนไทยเอาแต่เชื่อในสิ่งที่ฝรั่งทำ จนลืมเชื่อในสิ่งที่เราทำ เราควรมั่นใจในตัวเราเอง เราไม่ใช่ผู้ตามเพียงอย่างเดียว เราต้องพัฒนาตัวเราด้วย เพื่ออนาคตให้ทั้งโลกหันกลับมามองไทยบ้าง”

“ไม่แน่วันหนึ่งแกรมมี่ อวอร์ดส์อาจจะมีสาขาเพลงไทยอยู่ก็ไม่แน่เหมือนกัน” วูดดี้กล่าวในที่สุด

* ศิลปินที่มาสเตอริ่ง รางวัลแกรมมี่ อวอร์ส แนะนำ *

1. เบิร์ดกับฮาร์ท : ศิลปินดูโอ้ของไทย เปี่ยมล้นด้วยคุณภาพและมีสไตล์ในดนตรีของตัวเอง
2. Mellow Motif : กลุ่มศิลปินไทยรุ่นใหม่ที่นำเพลงแจ๊สบอสซ่าจากต่างประเทศมาเพอร์ฟอร์มใหม่
3. ไทเทเนียม : ฮิพฮอพเชื้อสายไทย แต่คุณภาพระดับสากล ผลงานทุกอัลบั้มเรียกได้ว่าใส่ใจทุกรายละเอียด อัดแน่นด้วยประสบการณ์
4. หลุยส์ อาร์มสตรอง : นักทรัมเป็ตและนักร้องเพลงแจ๊สชาวอเมริกัน เพราะเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ บวกกับเสียงทรัมเป็ตที่ไพเราะเสนาะหู จึงไม่แปลกที่เขาจะได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดศิลปินคนหนึ่งในยุค 70
5. Marche David : ผู้ชายที่โดดเด่นที่เสียงร้องและการทำงาน ผนึกเข้ากับมุมมองทางดนตรีที่น่าทึ่ง ทำให้เขาเป็นไอดอลสำหรับใครอีกหลายคน

Full article: http://www.thairath.co.th/content/life/203422

2 Comments

Comments are closed.